ความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ดูเหมือนสงบลงไปชั่วระยะหนึ่ง กลับมาปะทุขึ้นอีกครั้ง เมื่อ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล หรือ “บิ๊กโจ๊ก” ดับเครื่องชน ประกาศจะฟ้องทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งใน สตช.และนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน หลังจากที่คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า คำสั่งให้บิ๊กโจ๊กออกจากราชการถูกต้องแล้ว

บิ๊กโจ๊กไม่พอใจ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ที่ถูกเรียกตัวกลับไปปฏิบัติหน้าที่ ผบ.ตร. กับ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ที่รักษาการ ผบ.ตร.ระยะหนึ่ง ที่ไม่ยอมถอนคำสั่งให้ตนออกจากราชการ เพราะทำใจไม่ได้ว่าตนทำผิดแล้ว บิ๊กโจ๊กประกาศว่า ตนจะได้กลับ สตช.หรือไม่ จะต้องสู้ตามหลักกฎหมาย ไม่ขอให้นายกฯช่วยเหลือ

หลังจากเกิดความขัดแย้งใน สตช. โดยเฉพาะระหว่าง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ หรือ “บิ๊กต่อ” เมื่อประมาณ 4 เดือน นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง สรุปว่า มีความขัดแย้งในทุกระดับ ทั้งระดับใหญ่ ระดับกลาง และระดับเล็ก และมีการกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าเกี่ยวข้องกับคดีเว็บพนันและอื่นๆ

บิ๊กบางคนถูกกล่าวหาในคดีฟอกเงิน แต่ดูเหมือนว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับความผิดทางอาญา ที่บรรดาตำรวจใหญ่ถูกกล่าวหาจะไม่มีความคืบหน้าในการสอบสวนดำเนินคดี เสมือนหนึ่งว่า การที่ตำรวจใหญ่ถูกกล่าวหาในคดีอาญาร้ายแรง ไม่ใช่เรื่องสำคัญ บางคนวิจารณ์ว่าขณะนี้ อำนาจการสอบสวนคดีอาญาเป็นของฝ่ายตำรวจ อาจทำได้ตามใจ

แม้แต่นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการตำรวจ (ก.ตร.) โดยตำแหน่ง ซึ่งน่าจะเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตำรวจ ก็ดูเหมือนจะไม่ได้สนใจเรื่องที่นายตำรวจระดับบิ๊กถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำผิดทางอาญา แม้จะมีทนายบางคน นำพยานหลักฐานต่างๆไปร้องทุกข์กล่าวโทษ นายตำรวจใหญ่ที่สถานีตำรวจ แต่นิ่งเงียบ

นายกรัฐมนตรีเคยสัญญาว่า จะรื้อฟื้นนำ “หลักนิติธรรม” มาใช้ในการ บริหารประเทศ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมยึดถือหลักกฎหมาย และส่งเสริมการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตย แต่กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายต่อทุกคนโดยเสมอหน้า รวมทั้งมีการกล่าวหาเรื่อง “นักโทษเทวดา”

รัฐธรรมนูญปัจจุบันมีบทบัญญัติ ให้ลงมือปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆภายในหนึ่งปี นับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 รวมทั้งให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและตำรวจ ให้ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญา ให้มีการตรวจสอบ และถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับอัยการ ถึงวันนี้ผ่านมาแล้วกว่าเจ็ดปี.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม

แบ่งปัน.
Exit mobile version