ผมอ่านจบ บทที่ 32 ใน มหากาพย์ชนชาติไท เต้าตามไต เต้าทางไท (ชลธิรา สัตยาวัฒนา ชายชื้น คำแดงยอดไตย สำนักพิมพ์ทางอีศาน) พหุภาษา พหุลักษณ์ พหุสังคม ในบริบทสังคม “อู๋เยเวี่ยชุนชิว” เจอชุดความรู้สะดุดใจโครมใหญ่ ต้องย้อนอ่านทบทวนหลายเที่ยว

ค่อยๆตีความทำความเข้าใจ เริ่มแต่เนื้อหาเกริ่นนำ…

กระบวนการกลืนกลายทางภาษา คนไทยร่วมสมัยใช้ภาษาแม่ในครัวเรือน ใช้ภาษาถิ่นต่างๆในชุมชนแวดล้อม และใช้ภาษากลาง ที่ผู้คนในสังคมใหญ่ส่วนกลางใช้ร่วมกัน ในวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ เช่นการทำการค้า ฯลฯ

ในระบบสังคมโลกที่สั่งสมสืบเนื่องมาช้านาน ภาษาต่างๆได้ถูกกวาดต้อน หลากไหลมากักเก็บไว้ในคลังภาษาที่ใช้พูดและเขียน ในมิติแห่งห้วงเวลายาวนานเกินกว่า 2,000-5,000 ปี

ในความเป็นจีนมีความเป็นไทแฝงฝังอยู่ และในทางกลับกัน ในความเป็นไทก็มีความเป็นจีนครอบไว้หลายชั้นเชิง รหัสวัฒนธรรมเต้า มีการผลิตซ้ำส่งต่อ พัฒนา สืบทอด อย่างเป็นพลวัต

ลักษณะร่วมที่สำคัญระหว่างระบบความคิด ความเชื่อแบบลัทธิเต๋า บางลักษณะที่ปรากฏในคัมภีร์เต้า เต๋อ จิง กับระบบความเชื่อ ความคิดแบบดั้งเดิมของชนชาติไท ไต ลาว ในที่นี้ขออนุโลมเรียกว่า รหัสวัฒนธรรมเต้า

ปลายยุคชุนชิว นักคิดกลายเป็นผู้รับใช้ทางการเมืองยามวิกฤติ บางคนเป็นที่ปรึกษาของอ๋อง บางคนเป็นนักกลยุทธ์ทางการทหาร แต่บางคนกลายเป็นนักปลีกวิเวก แสวงหาสัจธรรม และเสนอแนวทางบรรลุสัจธรรม

หนึ่งในจำนวนนั้นที่โดดเด่นที่สุดคือเหลาจื่อ

แท้ที่จริง เหลาจื่อเป็นปัญญาชนปราดเปรื่องด้านอักษรศาสตร์ มีความรู้ด้านการอ่านการเขียนภาษาจีนอย่างลึกซึ้ง ตามประวัติท่านเป็นมันสมองที่เคลื่อนย้ายไหลเวียนไปได้ตามอำเภอใจ ไม่พอใจจะอยู่แคว้นไหนก็ไปแคว้นอื่น

คัมภีร์เต้า เต๋อ จิงหลายบท สะท้อนให้เห็นทางเลือกชีวิต คิดต่างจากคนอื่น

ตำนานที่สอดคล้องกันหลายสำนวน เหลาจื่อ ยุติบทบาททางโลกและทางการเมือง ออกเดินทางด้วยการขี่ควาย ทำตัวให้สูญหายไปจากระบบที่ท่านไม่พร้อมที่จะกล้ำกลืน

อาจารย์คำชื้น คำแดงยอดไตย เห็นว่าสังคมวิถีชีวิตพื้นบ้านไทใหญ่ มีร่องรอยเค้าเงื่อนความคิดความเชื่อทางสังคมรวมอยู่ด้วยกันกับกระบวนทัศน์แบบลัทธิเต๋า ชัดแจ้งในหลักคิด ชาวไตถือเพศแม่เป็นแกนกลางของสรรพสิ่ง

จากจุดกำเนิดแห่งมาตาวิถีนี้คัมภีร์เต้า เต๋อ จิงใช้เป็นวิถีหลักในการมองโลกมองธรรมชาติ มองสรรพสิ่ง มองคน และมองภายในแห่งตน

บรรพชนชาวไป่เยวี่ย โดยเฉพาะบรรพชนต้นตระกูลไท ไต ลาว ต่างมีวิถีวัฒนธรรมการเกษตร แบบทำไร่ไถนา เลี้ยงวัวควาย อยู่ในบริบทสังคมพื้นบ้านดั้งเดิม ใต้อิทธิพลสายวัฒนธรรมเต้า (ก่อนหน้าที่จะกลายเป็นลัทธิเต๋า)

บุคคลเหล่านี้มีชีวิตร่วมสมัยกับชนชาวจีน ในบางแคว้นและนครรัฐใหญ่ โดยเฉพาะแคว้นฉู่ ซึ่งเหลาจื่อเคยทำหน้าที่บรรณารักษ์หอจดหมายเหตุ

สำนักคิดไทศึกษา สกุลไทเยอรมัน เสนอแนวคิด…ลัทธิความเชื่อแบบเต๋า มีต้นเค้ามาจากสายวัฒนธรรมความเชื่อของชนชาติไท ลาวมาแต่โบราณกาล คุณโอลิเวอร์ตระเวนวิจัยสนามในพื้นที่คนไทตั้งถิ่นฐาน จีน ลาว ไทย เวียดนาม อินเดีย มีแง่คิดเชิงทฤษฎีที่ตกผลึก ท้าทายความเชื่อที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า

เหลาจื่ออาจเป็นลาว

ที่แหวกแนวมาก่อนใคร คุณโอลิเวอร์เชื่อว่า ต้นฉบับ เต้า เต๋า น่าจะเขียนเป็นภาษาไทเดิม ตั้งแต่ก่อนสมัยฉินและฮั่น แปลเป็นภาษาจีน ในสมัยปลายฉิน ต้นสมัยฮั่น ยังมี “คำไท” หลงเหลือปะปนอยู่พอเป็นที่น่าสังเกตได้

ผมตั้งสติคัดย่อประเด็นใหญ่ สะท้านใจคนจีนคนไทยมาได้แค่นี้ ขอแนะนำให้ไปหามหากาพย์ชนชาติไท เต้าตามไต เต้าทางไท อ่านกันให้จุใจเอง สามเล่มหนา ราคาไม่ถึงสามพันเท่านั้น.

กิเลน ประลองเชิง

คลิกอ่านคอลัมน์ “ชักธงรบ” เพิ่มเติม

แบ่งปัน.
Exit mobile version