“ชัยธวัช” หัวหน้าก้าวไกล ร่วมเสวนา วาระ “92 ปี 24 มิถุนา” ย้ำ เอกภาพขบวนการประชาธิปไตย ไม่ใช่ความเห็นที่เหมือนกันทั้งหมด แต่เป็นเอกภาพระหว่างเป้าหมายและวิธีการไปสู่ประชาธิปไตย 

วันที่ 24 มิ.ย. 2567 ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ร่วมเสวนาหัวข้อ “เอกภาพขบวนการประชาธิปไตย สู่ ประชาธิปไตยสมบูรณ์ จากบทเรียน 2475 สู่อนาคต” จัดโดยสถาบันปรีดี พนมยงค์ ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โดยชัยธวัชร่วมแสดงความเห็นว่า เมื่อพูดถึง 24 มิถุนายน 2475 เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นระบอบที่ในยุคนั้นเรียกว่า “ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งหลายคนในปัจจุบันอาจไม่คุ้นเคย เพราะในอดีตประชาธิปไตยใช้สำหรับระบอบการเมืองที่ประมุขของรัฐมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น

“ระบอบราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ” มีหลักการคืออำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ‘ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง’ ใช้รูปแบบการเมืองประชาธิปไตยระบบรัฐสภา แต่เมื่อเวลาผ่านไป ภารกิจนี้ยังไม่สำเร็จ บทบาทของคณะราษฎรก็ถูกจำกัดและพ่ายแพ้ในทางการเมือง โดยเฉพาะหลังการรัฐประหารครั้งแรกในปี 2489 ที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญ และจบบทบาทของคณะราษฎรตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา

ตั้งแต่เริ่มแรก การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองถูกตอบโต้ตลอดเวลา นำโดยกลุ่ม Ultra Royalist หรือที่ปรีดีเรียกว่า “ผู้เกินกว่าราชา” แต่การโต้การอภิวัฒน์นี้ไม่ได้หมายความว่าจะเปลี่ยนระบอบกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบเดิม เพียงแต่ต้องการแต่งใหม่ให้ “ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ” กลายเป็นระบอบอื่นแบบแอบแฝงซึ่งอาจเรียกได้หลายชื่อ ชื่อล่าสุดที่เริ่มมีการพูดถึงอย่างเป็นระบบคือ “ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษาว่าคืออะไร ดังนั้น ต้องยอมรับว่าภารกิจหรือจุดมุ่งหมายในการอภิวัฒน์ 2475 ยังไม่สำเร็จ มีการต่อสู้กันไปมาตลอดเวลา

ชัยธวัช กล่าวต่อว่า ส่วนจะไปถึงประชาธิปไตยสมบูรณ์ได้หรือไม่ ตนมองว่าประชาธิปไตยอาจไม่มีทางสมบูรณ์ จุดเน้นของปรีดีเมื่อกล่าวถึง “ประชาธิปไตยสมบูรณ์” สาระสำคัญไม่ใช่เฉพาะมิติทางการเมือง แต่ต้องเป็นประชาธิปไตยในทางเศรษฐกิจด้วย แต่ไม่ว่าจะความหมายใด ระบอบประชาธิปไตยเป็น “โครงการที่ไม่สิ้นสุด” กล่าวคือ แม้เราผลักดันให้เป็นประชาธิปไตยในแง่หลักการพื้นฐาน เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรมในทางเศรษฐกิจมากขึ้นแล้ว การต่อสู้ทางประชาธิปไตยก็ยังลึกและซับซ้อนขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น ประชาธิปไตยทางเพศ ทางภูมิอากาศ ทางเทคโนโลยี ดังนั้น ชุดคุณค่าเปลี่ยนไปตลอดเวลา ประชาธิปไตยจะบรรลุเมื่อไรคงตอบไม่ได้ มีแต่เข้าใกล้ไปเรื่อยๆ เพียงแต่ตอนนี้ประเทศไทยยังสู้กันในประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานอยู่เลย

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า เมื่อเห็นหัวข้อเสวนาเรื่องเอกภาพในขบวนการประชาธิปไตย ดูเหมือนผู้จัดงานให้ความสำคัญหรือมีความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งในขบวนการประชาธิปไตย ทั้งมิติพรรคการเมือง นักกิจกรรม ปัญญาชน รวมถึงประชาชน สำหรับตนเห็นว่าเอกภาพมีความสำคัญ ทำให้การขับเคลื่อนมีพลังมากขึ้น แต่จากประสบการณ์ซึ่งตนอาจมีน้อยที่สุดบนเวทีนี้ เอกภาพของขบวนการในความหมายที่ว่าเราไม่มีความขัดแย้ง ไม่เห็นต่างกันเลย เห็นไปในทิศทางเดียวกันหมดทุกเรื่อง อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างประชาธิปไตยในไทยหรือทั่วโลก และอาจเป็นสิ่งที่ไม่ควรนึกถึง เพราะอาจทำให้สังคมกลายเป็นสังคมที่ไม่พึงปรารถนา ความเห็นที่แตกต่างกันเป็นเรื่องปกติและควรเป็นส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยด้วย

สิ่งที่ตนคิดว่าอาจจะสำคัญกว่าเอกภาพในความหมายข้างต้น คือขบวนการประชาธิปไตยในประเทศไทยให้ความสำคัญน้อยเกินไปกับเอกภาพระหว่างเป้าหมายและวิธีการ นี่อาจจะเป็นปัญหาในช่วงที่ผ่านมาและช่วงที่ตนมีประสบการณ์สัมผัสโดยตรง การผลักดันประชาธิปไตยในแต่ละกลุ่มไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน วิธีการคิดแตกต่างกันได้ แต่ไม่ว่าจะเห็นอย่างไร ทุกการตัดสินใจ ทุกจังหวะก้าวต้องไม่ลดทอนเป้าหมายคุณค่าที่เราอยากเห็น

“ไปแค่ยอดมะพร้าว ยังไม่ถึงดวงดาว ไม่เป็นไร แต่การไปแค่ยอดมะพร้าวต้องไม่ลดทอนทำลายคุณค่าของเป้าหมายที่เราอยากไป หรือทำให้เกิดอุปสรรคกับเป้าหมายที่เราอยากจะไปถึง ผมให้ความสำคัญเรื่องนี้” ชัยธวัช กล่าว

หัวหน้าพรรคก้าวไกลยกตัวอย่างว่า รัฐประหารปี 2534 ประชาชนต่อต้านน้อยมาก เนื่องจากได้ขับไล่รัฐบาลที่เห็นว่าคอร์รัปชัน เป็นบุฟเฟต์คาบิเนต และปี 2535 เป็นต้นมา ก้าวสำคัญของขบวนการประชาธิปไตยไทยคือการปฏิรูปธงเขียว มีรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งเราเคยยกย่องว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุด แต่หากย้อนกลับไปรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบมาด้วยวิธีคิดบางส่วนที่มีปัญหาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือยอมรับว่าต้องมีประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง อยากเห็นรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ไว้วางใจนักการเมืองจากการเลือกตั้ง จึงไปออกแบบองค์กรอิสระเต็มไปหมด หวังให้มาตรวจสอบควบคุมนักการเมืองที่ไม่ดีจากการเลือกตั้ง ที่น่าสนใจคือไม่มีการพูดถึงการเพิ่มอำนาจสูงสุดของรัฐสภา แต่กลับเห็นชอบอย่างยิ่งกับการลดอำนาจของสภาฯ เพิ่มอำนาจให้นายกฯ นี่คือตัวอย่างความย้อนแย้ง

ขณะที่นอกสภาฯ ความคิดที่เติบโตมากคือสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยทางตรง” เกิดขึ้นจากบริบทที่ว่าไม่เอาเผด็จการ ไม่เอาทุนผูกขาด ต้องการความเป็นธรรม แต่ไม่มีความเชื่อมั่นและศรัทธาในประชาธิปไตยระบบรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง โดยไม่ตั้งใจแนวคิดแบบนี้กลายเป็นหนุนเสริมการลดทอนทำลายอำนาจของพี่น้องประชาชนที่แสดงออกผ่านระบบรัฐสภาผ่านการเลือกตั้ง และไปด้วยกันกับอนุรักษนิยมที่ต่อต้านประชาธิปไตย ซึ่งยังเป็นโจทย์ปัญหาจนถึงปัจจุบัน

“นี่คือตัวอย่างของเอกภาพระหว่างวิธีการและเป้าหมาย คุณตรวจสอบรัฐบาลที่คุณไม่ชอบได้ แต่ต้องไม่เลยเส้นจนไปทำลายความชอบธรรมของประชาธิปไตยแบบการเลือกตั้งเสียเอง” ชัยธวัช กล่าว

ชัยธวัชยังได้กล่าวถึงปัญหาของการปกป้องนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งอย่างสุดขั้วตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ชนิดที่แตะไม่ได้ ถ้าแตะเท่ากับเป็นอนุรักษนิยม ตนคิดว่าในบริบทปัจจุบัน ปมความขัดแย้งที่สำคัญคือเกิดการปะทะกันว่าตกลงอำนาจสูงสุดในประเทศนี้อยู่ที่ใคร อยู่ที่ประชาชนหรืออำนาจที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน โดยพื้นที่ที่แสดงออกอย่างมีนัยสำคัญมากคือสภาฯ พรรคการเมืองจึงมีบทบาทสำคัญมากตามไปด้วย ตนเห็นว่านี่เป็นบรรยากาศทางการเมืองที่แตกต่างไปมากจากยุคที่ตนกล่าวถึงก่อนหน้านี้ ที่นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองหัวก้าวหน้า แทบไม่สนใจการออกแบบสถาบันทางการเมืองเลย

ดังนั้น ตนเห็นว่าสำหรับพี่น้องประชาชนแล้ว พรรคการเมืองมีความสำคัญมากและละทิ้งไม่ได้ หากเห็นว่าพรรคที่มีอยู่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน ไม่สามารถตอบสนองเป้าหมายทางประชาธิปไตยได้ ก็ต้องช่วยกันสร้างพรรคการเมืองแบบนั้นขึ้นมา

ส่วนพรรคการเมืองทำอะไรได้บ้างในบริบทนี้ ตนเห็นว่าต้องต่อสู้ผลักดันวาระประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปแบบ ทั้งเชิงระบบและเชิงโครงสร้าง เพื่อเพิ่มอำนาจของประชาชน และขณะเดียวกัน หากเราเข้าใจภูมิหลังของปัญหาว่าไม่ใช่แค่ฝั่งอนุรักษนิยมที่คอยทำลายประชาธิปไตย แต่ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมของพรรคการเมืองรวมถึงนักการเมือง หลายสิบปีที่ผ่านมาไม่สามารถสร้างศรัทธาและความเชื่อมั่นให้ประชาชนได้ จึงสุ่มเสี่ยงว่าเมื่อเกิดวิกฤติทางการเมือง ประชาชนจะไม่สนใจปกป้องระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รวมถึงไม่ปกป้องพรรคการเมือง ดังนั้นนอกจากการผลักดันวาระประชาธิปไตยแล้ว พรรคการเมืองต้องมีส่วนอย่างสำคัญในการกลับมาสร้างความเชื่อมั่นและความศรัทธาของประชาชนต่อระบบรัฐสภาให้ได้

“ส่วนจะมีความคิดเห็นแตกต่างอย่างไรก็ตาม ต้องไม่นำไปสู่การใช้วิธีการที่ลดทอนหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยเสียเอง วันนี้พรรคก้าวไกลในฐานะฝ่ายค้าน เรามีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล มีหลายเรื่องที่เราไม่เห็นด้วย แต่เรามีเส้นอยู่ว่าเราจะไม่ค้าน ไม่วิพากษ์วิจารณ์ฝ่ายบริหาร ด้วยวิธีการอะไรก็ได้ หากเราเห็นว่า วิธีการแบบนี้มันชวนให้สังคมเลี้ยวขวา ออกห่างจากคุณค่าหลักการพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย เราต้องไม่ทำ” ชัยธวัช กล่าว

แบ่งปัน.
Exit mobile version