“พิธา” ย้ำ กกต. ทำผิดขั้นตอน กำลังสร้าง 2 มาตรฐาน ส่งก้าวไกลขึ้นทางด่วน ไม่เปิดโอกาสชี้แจงคดียุบพรรคก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญ ยกคำวินิจฉัยปี 53 เคยปัดตกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ เพราะ กกต. ทำผิดขั้นตอนเช่นกัน

วันที่ 30 มิถุนายน 2567 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงที่อาคารอนาคตใหม่ ถึงความคืบหน้าการต่อสู้คดียุบพรรคก้าวไกล ว่า จากการแถลงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567 พรรคก้าวไกลมีข้อต่อสู้ทั้งหมด 9 ข้อ ในประเด็นว่าด้วยเขตอำนาจและกระบวนการ ข้อเท็จจริง และสัดส่วนโทษ โดยเน้นย้ำในประเด็นว่ากระบวนการยื่นคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำวินิจฉัยที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ไม่ผูกพันกับการพิจารณาคดีนี้ และโทษยุบพรรคเป็นมาตรการสุดท้ายที่ใช้เมื่อจำเป็นฉุกเฉินและไม่มีวิธีแก้ไขอื่น

ส่วนการแถลงในวันนี้เป็นเรื่องความคืบหน้าต่อเนื่อง โดยจะขอเน้นย้ำถึงกระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้กระบวนการยุบพรรคมี 2 มาตรฐาน เพราะ กกต. อ้างว่าในกรณีของพรรคก้าวไกลใช้แค่มาตรา 92 ก็สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคได้ เพราะมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ทั้งที่มาตรา 93 เขียนไว้ชัดเจนว่า ต้องต่อเนื่องจากมาตรา 92 ถ้าตีความอย่างเคร่งครัดคือไม่สามารถใช้แยกกรณีกันได้ 

ถ้าใช้แยกกรณีกันเมื่อใดหมายความว่ามี 2 มาตรฐานในการยื่นยุบพรรคทันที บางพรรคที่อยากให้เร็วก็ใช้เฉพาะมาตรา 92 แต่พรรคใดที่อยากให้ช้าหน่อยก็ใช้มาตรา 92 ประกอบกับ 93 ถ้าปล่อยให้ใช้แยกกัน ย่อมหมายความว่าจะเป็นการส่งพรรคก้าวไกลขึ้นทางด่วน แต่พรรคอื่นไปทางธรรมดา เป็น 2 มาตรฐานที่ต้องตั้งคำถามว่า กกต. สามารถใช้ดุลยพินิจเช่นนี้โดยไม่ต้องมีการถ่วงดุลและมีส่วนร่วมได้ด้วยหรือ 

“พรรคก้าวไกลจึงยืนยันว่า กกต. ไม่สามารถตีความมาตรา 92 แยกออกจากมาตรา 93 ได้ ไม่เช่นนั้นจะเกิด 2 มาตรฐานทันที ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดก็ควรใช้มาตรฐานเดียวกัน และทุกพรรคการเมืองควรได้รับสิทธิในกระบวนการที่ กกต. กำหนดขึ้นมาเอง โดยต้องเปิดโอกาสให้พรรคที่ถูกร้องได้รับทราบข้อเท็จจริงและต่อสู้ทางกฎหมายในชั้น กกต. ไม่สามารถปล่อยให้การยุบพรรคมีสองช่องทางได้”  

ขณะเดียวกัน เมื่อมาตรา 93 ระบุว่า กกต. ต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 กกต. จึงออกระเบียบเกี่ยวกับการบังคับใช้มาตรา 92 และ 93 ขึ้น โดยสรุปได้ว่าต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องมีโอกาสรับทราบข้อกล่าวหาและโต้แย้งด้วยหลักฐานในชั้น กกต. ซึ่งระเบียบดังกล่าวทำให้คดียุบพรรคก้าวไกลกับคดียุบพรรคไทยรักษาชาติที่เกิดขึ้นก่อนการออกระเบียบดังกล่าวไม่เหมือนกัน

เรื่องนี้ถูกตอกย้ำโดยเอกสารคำอธิบายกระบวนการที่ กกต. จัดทำขึ้นมาเองเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ระบุว่า ในกระบวนการยื่นคำร้องยุบพรรคต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องได้รับทราบและมีโอกาสโต้แย้งพยานหลักฐานในชั้น กกต. ก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีทางด่วนและทางธรรมดา ทุกอย่างต้องลงมาในกระบวนการเดียวกันทั้งหมด ไม่มีข้อใดที่ระบุว่าเพียง “มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า” ก็สามารถส่งศาลรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกร้องโต้แย้งในชั้น กกต.

นายพิธา กล่าวต่อไปว่า การทำคำร้องยุบพรรคก้าวไกลครั้งนี้ กกต. มีวัตถุคดีชิ้นเดียว คือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ซึ่งพรรคก้าวไกลยืนยันว่าไม่ผูกพันกับการวินิจฉัยคดีนี้ ด้วยเหตุว่าเป็นคนละข้อหากัน เพราะคำวินิจฉัยที่ 3/2567 เป็นข้อกล่าวหาตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ส่วนคดีปัจจุบันเป็นข้อกล่าวหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 และ 93 นอกจากคนละข้อหากันแล้ว ความหนักของโทษก็ต่างกันคือสั่งให้เลิกการกระทำ กับสั่งให้ยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค การที่ กกต. ออกมาแถลงว่า คำวินิจฉัยที่ 3/2567 เป็นเหตุผลอันควรเชื่อได้ว่า และเป็นวัตถุคดีเพียงหนึ่งเดียวที่ใช้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลได้โต้แย้ง จึงเป็นวัตถุคดีที่ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

ขณะที่ความคืบหน้าล่าสุด สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้พรรคก้าวไกลทำบันทึกถ้อยคำภายใน 7 วัน เพื่อตอบ 2 คำถามสำคัญ สำหรับใช้ในการนัดพิจารณาครั้งถัดไปคือ วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 และการนัดคู่กรณีมาตรวจพยานหลักฐานวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 โดย 2 คำถามที่พรรคก้าวไกลได้รับมาคือ 

1. พรรคก้าวไกลได้โต้แย้งต่อ กกต. ในประเด็นที่พรรคไม่มีโอกาสชี้แจงในชั้นพิจารณาของ กกต. หรือไม่ 

2. การกระทำตามข้อเท็จจริงตามคดี 3/2567 อาจเป็นปฏิปักษ์หรือไม่

คำถามข้อที่ 1 คำตอบคือ ในเมื่อพรรคก้าวไกลไม่มีโอกาสได้รับทราบข้อกล่าวหาและโต้แย้งในชั้น กกต. จะเป็นไปได้อย่างไรที่พรรคก้าวไกลจะเรียกร้อง กกต. ให้ทำตามกระบวนการ อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายใดที่กำหนดหน้าที่ให้พรรคต้องโต้แย้งในกรณีที่ กกต. ไม่ทำตามกระบวนการ

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่มีความคล้ายคลึงกัน คือคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ที่ 15/2553 ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เคยยกคำร้องเพราะ กกต. ไม่ทำตามกระบวนการมาแล้ว ด้วยเหตุว่านายทะเบียนพรรคการเมืองไม่ได้ทำความเห็นส่งไปยัง กกต. ซึ่งเป็นความผิดพลาดทางเทคนิคที่น้อยกว่ากระบวนการยุบพรรคก้าวไกลวันนี้ด้วยซ้ำ แต่ศาลก็ยกคำร้อง

“ความผิดเพียงเล็กน้อยศาลยังยกคำร้อง ดังนั้นในกรณีของพรรคก้าวไกลที่ กกต. ข้ามขั้นตอน ปิดโอกาสในการชี้แจง ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่มากกว่า ยิ่งต้องเป็นเช่นนั้นว่าควรยกคำร้อง”

ส่วนคำถามที่ 2 พรรคก้าวไกลตอบไปว่า พรรคไม่สามารถตอบต่อศาลในชั้นนี้ได้ เพราะข้อกล่าวหาคำว่า “การกระทำเป็นการล้มล้างและอาจเป็นปฏิปักษ์” เป็นคนละข้อกล่าวหากับคดี 3/2567 ที่กล่าวหาว่า “ใช้เสรีภาพเพื่อล้มล้างฯ” เพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกลยืนยันว่า การกระทำของพรรคก้าวไกลไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ได้ แต่ในเมื่อเป็นคนละข้อหาและเป็นประเด็นใหม่ ก็ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ในชั้น กกต. ให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน แต่ในเมื่อ กกต. ปิดประตูใส่ พรรคก้าวไกลก็ไม่มีโอกาสได้ไปชี้แจง ไม่มีช่องทางในการท้วงติง และในเมื่อเป็นประเด็นใหม่และขอบเขตใหม่ก็ต้องเริ่มต้นด้วยกระบวนการใหม่เท่านั้น

“ถ้าเกิดมันมี 2 มาตรฐานแบบนี้ได้ ถ้า กกต. อยากยุบพรรคไหนเป็นพิเศษก็ส่งขึ้นทางด่วน ใช้ 92 อย่างเดียว พรรคไหนไม่อยากยุบเร็ว อยากประวิงเวลาให้ก็ส่งไปทางธรรมดา ใช้มาตรา 93 เข้ามาช่วย คุณเลือกใช้แบบนี้ไม่ได้ มันทำให้เกิด 2 มาตรฐานในประเทศไทย รวมถึงไม่สามารถบอกว่าคดีนั้นจบก็ถือว่าเอาคดีนั้นมาผูกพันกับคดีนี้ ถือเป็นหลักฐานอันเชื่อได้ว่า ซึ่งเป็นเรื่องดุลยพินิจล้วนๆ เรื่องที่โทษรุนแรงขนาดนี้ ไม่สามารถที่จะใช้ดุลยพินิจโดยไม่มีการถ่วงดุลได้”

(ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์)

แบ่งปัน.
Exit mobile version