ช้างป่าบุกรุกชุมชนเป็นปัญหาเรื้อรังมานานกว่า 10 ปี โดยเฉพาะพื้นที่ป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออก นอกจากสร้างความหวาดผวาให้กับชาวบ้าน ทรัพย์สินและพื้นที่การเกษตรเสียหายแล้ว ตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงวันนี้ มีผู้เสียชีวิตจากการถูกช้างป่าทำร้ายมากถึง 7 ราย การส่งช้างกลับป่าจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา 

ที่ผ่านมาเคยปรากฏในโซเชียลมีช้างป่าตัวใหญ่บุกบ้านคน พังกำแพงเข้ามาถึงในครัว และเดินไล่รถที่ขับผ่านไปมา บางคนอมยิ้มมองดูเป็นเรื่องตลกขบขัน แต่คนที่อยู่ในพื้นที่อาจไม่ตลกด้วย เพราะต้องสูญเสียทั้งทรัพย์สิน บางครอบครัวมีผู้เสียชีวิตจากช้างป่า ต้องอยู่กันแบบหวาดกลัว อย่างกรณี “ช้างสีดอโหนก” หรือชาวบ้านเรียกว่า “ช้างสิบล้อ” ช้างตัวผู้ไม่มีงา อายุมากกว่า 50 ปี ตัวใหญ่มาก 

ย้อนไปเมื่อ 3-4 ปี ก่อน ช้างสีดอโหนก หรือช้างสิบล้อ เริ่มออกจากป่าลงมาหาอาหารกิน โดยข้ามฝั่งมาจาก จ.ฉะเชิงเทรา เข้ามาหากินในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ทำลาย พื้นที่เกษตรของชาวบ้าน ทั้งอ้อย มัน ปาล์ม อยู่บ่อยๆ จนเมื่อ 2 ปีก่อน ฆ่าชาวบ้านที่เข้าไปเก็บเห็ดในป่าใกล้บ้าน ทำให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำกำลังเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน ช่วยกันจับช้างสิบล้อ ไปปล่อยในป่าลึก 

เวลาผ่านไปช้างสิบล้อ กลับมาปรากฏตัวอีกครั้ง ทำลายพื้นที่เกษตร สร้างความหวาดกลัวให้กับชาวบ้าน เกรงว่าจะมาทำร้ายใครอีก จนเจ้าหน้าที่และชาวบ้านมีการนัดหมายจะจับช้างสิบล้อ ส่งเข้าไปในป่าลึกอีกครั้ง แต่ภารกิจไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องใช้คนเป็นร้อย มาช่วยกันจับช้างตัวใหญ่ สูงประมาณ 3.20 เมตร จากการประชุมวางแผนอย่างรัดกุม เพราะทุกขั้นตอนมีความเสี่ยงและอันตราย 

ภารกิจพา “ช้างสิบล้อ” กลับป่า อุปสรรคมากมาย

ภารกิจพาช้างสิบล้อกลับป่า ถูกแบ่งกำลังเป็น 5 ชุด 1.ชุดลาดตระเวนและติดตามช้าง เพื่อชี้เป้า 2.ชุดยิงที่เป็นเจ้าหน้าที่สัตวบาล ทำหน้าที่ยิงยาทำให้ช้างซึม ซึ่งวางกำลังไว้ 4 ทีม 3.ชุดตรวจสอบและควบคุมช้าง สัตวแพทย์จะเข้าตรวจสอบหลังยิงยา เมื่อพร้อมแล้วชุดควบคุมจะเข้าไปล่ามช้างไว้กับต้นไม้ 4.ชุดเปิดทางจะเปิดทางให้รถบรรทุกช้างเข้าพื้นที่ และ 5.ชุดเคลื่อนย้ายจะเข้าพื้นที่ เป็นชุดสุดท้าย 

ก่อนเริ่มภารกิจยังไม่ทราบพิกัดแน่ชัดของช้างสิบล้อ จนเวลาผ่านไปราว 3 ชั่วโมง ชุดยิงได้รับคำสั่งให้เข้าพื้นที่บริเวณเขตรอยต่อจังหวัดฉะเชิงเทรากับปราจีนบุรี และพบช้างสิบล้ออยู่ในไร่อ้อยใกล้โรงงานกำจัดขยะ ห่างจากถนนหลักเพียง 3 กิโลเมตร ทำให้ทีมอื่นๆ ต้องย้ายจุดเฝ้าระวังเข้าใกล้พื้นที่ให้มากขึ้น และพบว่าช้างสิบล้อเคลื่อนตัวมาพื้นที่ระหว่างไร่อ้อยกับไร่ยูคาลิปตัส ชุดยิงจึงเริ่มยิงยาชุดแรก แต่มีอุปสรรคเพราะเข็มหลุดออกจากตัวช้าง ทำให้ต้องยิงซ้ำ

หลังจากชุดยิงเริ่มปฏิบัติการประมาณ 40 นาที ก็มีคำสั่งให้สัตวแพทย์และชุดควบคุมเข้าพื้นที่ เพื่อตรวจสอบอาการของช้าง พร้อมกับนำเชือกมาล่ามขาช้าง และเอาไม้ไผ่ประคองตัวช้าง เมื่อควบคุมช้างสิบล้อได้แล้ว และทีมเคลื่อนย้ายเข้าไปถึงตัวช้างในการนำช้างขึ้นรถ ท่ามกลางอุปสรรคมากมาย เพราะตั้งแต่ยิงยาเข็มแรก ใช้เวลากว่า 6 ชั่วโมงในการพยายามนำช้างขึ้นรถ จนช้างสิบล้อเริ่มฟื้นตัวจากยา ทำให้ชุดยิงต้องเติมยาอยู่เป็นระยะ เชือกชักลากขาดมากกว่า 6 เส้น พื้นที่ที่เป็นดินทรายที่ค่อนข้างอ่อนตัว รวมถึงความมืด ความเหนื่อยล้าของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครทุกคน  

ในที่สุดก็สามารถนำช้างขึ้นรถได้ ภารกิจนี้สำเร็จอย่างที่ทุกคนหวังในการจับช้างป่าคืนสู่ป่า รวมแล้วเกือบ 20 ชั่วโมง ให้ช้างสิบล้อกลับคืนสู่สถานที่ควรจะอยู่ สถานที่ที่เรียกว่าบ้าน ก็คือป่าบริเวณทุ่งกระทิงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน แต่ช้างสิบล้อไม่ใช่ช้างป่าตัวเดียวที่อยู่ในชุมชน ยังมีอีกหลายตัวในหลายพื้นที่ในการปฏิบัติภารกิจจับช้างกลับป่าในครั้งต่อๆ ไป เพื่อช่วยชาวบ้านไม่ต้องหวาดกลัวช้างป่าจะเข้ามาบุกรุกในชุมชนอีก 

ช้างป่าถูกรุกที่ ออกหาแหล่งอาหาร ปมขัดแย้งกับคนมานาน

จากข้อมูลปี 2566 ของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีการสำรวจจำนวนประชากรช้างป่าตามธรรมชาติมีประมาณ 4,013-4,422 ตัว ในพื้นที่อนุรักษ์ทั้งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน จำนวน 91 แห่ง และพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบางแห่ง ในแต่ละพื้นที่กระจายไปสามารถพบช้างป่าได้ตั้งแต่น้อย 10 ตัว ไปจนถึง 200-300 ตัว

แต่จากการขยายตัวของชุมชน มีจับจองชายขอบป่าของชาวบ้านในการทำที่อยู่อาศัย พื้นที่เกษตรกรรม และบางส่วนทับซ้อนพื้นที่ที่เคยเป็นถิ่นอาศัยของช้างป่า ทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยของช้างป่าลดลง และออกมากินพืชผลของชาวบ้านในชุมชนที่มีแหล่งน้ำ สร้างความเสียหายหนัก โดยเฉพาะเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤๅไน มีการออกนอกพื้นที่ของช้างป่า เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกิดปมความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่า ไม่จบไม่สิ้น และรุนแรงมากสุดถึงขั้นกระทืบทำร้ายคนเสียชีวิต

การส่งช้างกลับป่า เป็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหา สามารถติดตาม #ข่าวแสบเฉพาะกิจ รายการวาไรตี้ข่าวสุดแสบ ที่จะพิสูจน์ ตรวจสอบ พร้อมลงทุกพื้นที่ ขยี้ทุกความจริง ทุกวันเสาร์ 6 โมงเย็น ทางไทยรัฐทีวี ช่อง 32.

แบ่งปัน.
Exit mobile version