สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA (เอ็ตด้า) จัดเวทีถกเรื่อง “Digital Pollution เมื่อโลกเสมือนกำลังกัดกินโลกจริง” สะท้อนปัญหามลพิษทางดิจิทัล หรือ Digital Pollution ซึ่งเกิดจากอุปกรณ์ดิจิทัลหรือกิจกรรมบนโลกออนไลน์ ตั้งแต่กระบวนการผลิต, การใช้งาน รวมถึงขั้นตอนการทำลาย ทำให้โดยสรุปกิจกรรมออนไลน์ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ปีละกว่า 1,600 ล้านตัน มากกว่า อุตสาหกรรมการบินทั้งหมดและเทียบเท่าประเทศที่มีการปล่อยมลพิษมากเป็นอันดับ 4 ของโลก

ยกตัวอย่าง การเปลี่ยนรุ่นโทรศัพท์มือถือที่อัปเดตใหม่ทุกปี ไม่เพียงทำให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) จำนวนมหาศาล ปีละกว่า 50 ล้านตันทั่วโลกเท่านั้น แต่ในทุกขั้นตอนตั้งแต่การผลิต การใช้งาน และการทำลาย ต้องใช้พลังงานและทรัพยากรมหาศาลและสิ้นเปลือง แถมปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม เกิดฝุ่นพิษ PM2.5 จนกระทบสุขภาพกายและใจของมนุษย์ เช่น อาการนิ้วล็อก ตาแห้ง ออฟฟิศซินโดรม ไปจนถึงความรู้สึกซึมเศร้า เครียด จากการเปรียบเทียบตนเองกับสังคมออนไลน์

รายงานของเอ็ตด้าระบุ เริ่มจากการใช้อินเตอร์เน็ตหรือทำกิจกรรมต่างๆ บนโลกออนไลน์ ทุกการกดค้นหาบนกูเกิล (Google) ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CO2 ปริมาณ 0.2-1.45 กรัม หรือทุกครั้งที่ส่งอีเมลมีการปล่อย CO2 ปริมาณ 4-50 กรัม ขณะที่ทั่วโลกมีการส่งอีเมลวันละ 347,300 ล้านฉบับ

นอกจากนั้น การรับชมคลิปวิดีโอบนยูทูบ (YouTube) นาน 30 นาที ยังมีการปล่อย CO2 ประมาณ 3 กรัม ส่วนการดูซีรีส์บนเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) เป็นเวลา 1 ชั่วโมง ปล่อย CO2 จำนวน 56-114 กรัม เพราะเบื้องหลังการทำงานของเครือข่ายอินเตอร์เน็ต การสตรีมมิงและการเก็บข้อมูลดิจิทัลที่ไม่มีใครเห็น คือการทำงานของเซิร์ฟเวอร์ (Server) และดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) ขนาดใหญ่ที่ใช้ไฟฟ้าจำนวนมหาศาลตลอด 24 ชั่วโมง โดยกิจกรรมออนไลน์ปล่อย CO2 ปีละกว่า 1,600 ล้านตัน มากกว่าอุตสาหกรรมการบินทั้งหมดและเทียบเท่าประเทศที่มีการปล่อยมลพิษมากเป็นอันดับ 4 ของโลก

เอ็ตด้ารายงานว่า เมื่อมองถึงสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล แทบทุกกิจกรรมอยู่บนโลกออนไลน์การเลิกใช้ดิจิทัลจึงเป็นไปไม่ได้ แต่สามารถลด ละ เลี่ยง เพื่อสร้างผลกระทบให้น้อยที่สุดได้ โดยอาจเริ่มจากสิ่งง่ายๆ เช่น การใช้อุปกรณ์ดิจิทัลให้นานขึ้น เมื่อมีรุ่นใหม่ออกมาอย่าเพิ่งรีบเปลี่ยนหากเครื่องเก่ายังใช้งานได้, การส่งอีเมลให้น้อยลง เปิดอ่านให้มากขึ้น, เก็บข้อมูลในคลาวด์เท่าที่จำเป็น หรือการทำโซเชียล ดีท็อกซ์ (Social Detox) เป็นประจำ

นอกจากนั้น ภาครัฐและผู้ประกอบการยังมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมเพื่อช่วยแก้ปัญหา หมั่นดูแลรักษาและปรับปรุงระบบไอทีและดาต้าเซ็นเตอร์ เลือกใช้ซอฟต์แวร์และอุปกรณ์ดิจิทัลที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมลดการปล่อยขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทำลายขยะอย่างถูกวิธี เลือกใช้พลังงานทางเลือก รวมถึงปลูกฝังพนักงานในองค์กรให้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อให้เกิดนิยาม New Normal ใหม่ ที่รักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม

แบ่งปัน.
Exit mobile version