รมว.อว.นำเสนอนโยบาย “โดรนคนละครึ่ง” ใน ครม.สัญจร นครราชสีมา เพื่อเปลี่ยนเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) พร้อมดันห้องปฏิบัติการฯ ทางแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต

เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2567 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรกลุ่มพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ที่ จ.นครราชสีมา ว่า กระทรวง อว.ได้นำเสนอนโยบาย “วิจัย นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ ตรงความต้องการ” โดยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการนำองค์ความรู้ งานวิจัย นวัตกรรม ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และแก้ปัญหาที่สำคัญในพื้นที่ ผ่านนโยบายการพัฒนาโดรนเพื่อการเกษตร เพื่อลดการสัมผัสสารเคมี ลดต้นทุน ให้เกษตรกร ประหยัดเวลาและแรงงาน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีรูปแบบของนโยบายเป็นการช่วยค่าบริการ หรือค่าใช้จ่ายในการใช้บริการโดรนเพื่อการเกษตร “โดรนคนละครึ่ง” แสดงให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาแก้จน อย่างเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ส่งเสริมเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อเปลี่ยนเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ทั้งนี้ จะมีการศึกษาถึงระเบียบและวิธีการที่ถูกต้องต่อไป

รมว.กระทรวง อว. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กระทรวง อว.จะสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับหรือโดรน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเป็นเกษตรอัจฉริยะ สำหรับการสำรวจพื้นที่ทางการเกษตร ทำให้สามารถประเมินพื้นที่ นำมาวิเคราะห์ปริมาณการใช้ปุ๋ยได้อย่างแม่นยำ รวมถึงการพ่นปุ๋ยหรือสารเคมีทำให้เกษตรกรลดการสัมผัส สารเคมี เป็นการทำเกษตรแบบยั่งยืน นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงการสร้างระบบนิเวศที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการ ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย IGNITE THAILAND ในด้านการเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์แห่งอนาคต (Future Mobility Hub) และศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) เช่น พัฒนาห้องปฏิบัติการการทดสอบ ความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Compatibility : EMC Test) เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้บริการทดสอบผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ ลดต้นทุน และเพิ่มสามารถการแข่งขันในตลาดได้ ซึ่งที่ประชุม ครม.รับทราบ

น.ส.ศุภมาส กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. สนับสนุนการพัฒนา นวัตกรรมด้านการเกษตร ส่งเสริมการเป็นเกษตรอัจฉริยะ รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรและให้อุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ผลักดันให้มีห้องปฏิบัติการ การทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Compatibility : EMC Test) ในภูมิภาค เพื่อยกระดับ โครงสร้างพื้นฐานภาครัฐด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่พร้อมขับเคลื่อนผู้ประกอบการให้สามารถผลิต ผลิตภัณฑ์ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการให้แข่งขันได้ทั้งตลาดภายในประเทศและระดับสากล

แบ่งปัน.
Exit mobile version