วัณโรคเทียมเกิดจากสาเหตุใด และคนที่ร่างกายแข็งแรงมีโอกาสป่วยด้วยโรคนี้หรือไม่ ทำให้หลายคนสังเกตตัวเอง ภายหลังนพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบทางเดินหายใจ ออกมาเปิดเผยเคสหญิงวัย 64 ปีรายหนึ่ง ติดเชื้อวัณโรคเทียม ทั้งๆ ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ ร่างกายแข็งแรงดี เริ่มจากมีไข้ ไอ มีเสลดข้นเหนียว เหนื่อย ไม่มีน้ำมูก ไม่เจ็บคอ และไม่พบโควิด แม้ได้ยาปฏิชีวนะ ทำให้ไข้ลดลง แต่ยังไอมีเสลดมาก จนน้ำหนักลดลง 3 กก. สุดท้ายพบว่ารับเชื้อโรคจากปุ๋ยคอกมูลวัว เพราะชอบทำสวน ปลูกต้นไม้ ส่งผลให้ติดเชื้อวัณโรค หรือวัณโรคเทียม

นพ.มนูญ ยังเคยระบุว่า วัณโรคเทียมมีหลายชนิด บางชนิดรักษายากกว่าวัณโรคแท้ ต้องมีการวินิจฉัยและรักษา ด้วยการเพาะเชื้อและตรวจหาความไวต่อยา เพื่อให้รู้ว่าเป็นเชื้อวัณโรคเทียมชนิดใด เพื่อการให้ยารักษา และก่อนหน้านี้ก็มีผู้ป่วยติดเชื้อวัณโรคเทียม จากการเป่าพื้นรองเท้ากอล์ฟด้วยลมเพื่อกำจัดเศษดินและหญ้า ทำให้เชื้อโรคที่ปนเปื้อนในดินที่เกาะใต้รองเท้า ลอยขึ้นมาในอากาศ และหายใจเข้าปอด ซึ่งคนปกติส่วนใหญ่ไม่เป็นอะไร หรือน้อยคนมากที่ป่วย และโรคนี้ไม่ติดต่อระหว่างคนสู่คน

วัณโรคเทียม มักดื้อยา กระจายตัวในธรรมชาติทั้งดิน-น้ำ

ข้อมูลกรมควบคุมโรค ระบุว่า วัณโรคเทียม เกิดจากการติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียกลุ่มที่ไม่ได้ก่อให้เกิดวัณโรค (Nontuberculous Mycobacteria) หรือ NTM มีการกระจายตัวอยู่ในธรรมชาติสูงทั้งในดิน น้ำ และอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคในคนที่มีโรคปอดอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่มีความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ที่ติดเชื้อ HIV ผู้สูงอายุ ผู้ที่เคยป่วยเป็นวัณโรค โดยการติดเชื้อนี้จะมีผลต่อการเกิดโรคบริเวณปอด ต่อมน้ำเหลือง หรือส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมทั้งผิวหนัง ส่วนคนที่มีปอดปกติเมื่อหายใจเอาเชื้อวัณโรคเทียมเข้าไป จะไม่ก่อให้เกิดโรค 

ปัจจุบันพบว่า ผู้ติดเชื้อ NTM มักดื้อยารักษาวัณโรค หากมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อ NTM ออกจากผู้ป่วยวัณโรค จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากไม่มีการตรวจคัดแยกผู้ติดเชื้อ NTM ออกจากผู้ป่วยวัณโรค จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพ และอาจส่งผลให้มีโอกาสเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น

อาการผู้ป่วยวัณโรคเทียม คล้ายผู้ป่วยวัณโรค เนื่องจากการติดเชื้อส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ปอด อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้ ไอเรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ เหนื่อยง่าย เสมหะเป็นเลือด น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เหงื่อออกในตอนกลางคืน อ่อนเพลีย และยังพบอาการอื่นๆ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของการติดเชื้อ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ หรือขาหนีบ ผื่นผิวหนัง ฝี หรือแผลเรื้อรัง 

วัณโรคเทียม มีกว่า 140 สายพันธุ์ ภูมิคุ้มกันต่ำ เสี่ยงสูง

ขณะที่วัณโรค หรือ TB (Tuberculosis) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis ในกลุ่ม Mycobacterium tuberculosis complex เกิดได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นที่ปอด และเชื้อ Mycobacterium แบ่งเป็น 3 กลุ่ม 1. Mycobacterium tuberculosis complex (MTBC) เป็นสาเหตุของวัณโรคในคนและสัตว์  2. Nontuberculous mycobacteria (NTM) หรือวัณโรคเทียม มีมากกว่า 140 สายพันธุ์ เป็นเชื้อมัยโคแบคทีเรียที่ไม่ก่อโรควัณโรค มักก่อโรคในผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และมีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา และ 3. Mycobacterium leprae เชื้อมัยโคแบคทีเรีย สาเหตุของโรคเรื้อน

ข้อมูลองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2566 ประมาณการว่ามีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 111,000 กว่ารายต่อปี และมีการเสียชีวิตจากวัณโรคกว่า 12,000 รายต่อปี หากสังเกตตัวเองว่ามีอาการเหล่านี้ หรือสงสัยว่าป่วยวัณโรค ควรรีบไปตรวจหาการป่วยเป็นวัณโรคโดยเร็ว ด้วยการเอกซเรย์ปอดและตรวจเสมหะ เพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษาตามมาตรฐาน และสามารถป้องกันการป่วยเป็นวัณโรคได้ด้วยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการไอ และตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง.

แบ่งปัน.
Exit mobile version