ปัญหาเด็กและเยาวชนหลุดจากระบบการศึกษา ต้องหยุดเรียนกลางคันเป็นข่าวอีกครั้ง คราวนี้เดือดร้อนถึงนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขที่สำคัญ เช่น ระดมกำลังค้นหาเด็กและเยาวชนที่หลุดระบบ จัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น และให้ผู้ประกอบการ เอกชนมีส่วนร่วม

เป็นผลจากที่มีรายงานของกองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาที่ระบุ ว่าในปี 2566 มีเยาวชนและเด็กหลุดจากระบบการศึกษาทะลุถึง 1 ล้านคน จากเดิมที่มีปีละ 5 แสนคน รัฐบาลจึงต้องประกาศนโยบาย การแก้ปัญหาหลุดระบบการศึกษา เป็นศูนย์ นายอนุชาติ ฟองสำลี แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่าการปฏิรูปการศึกษาล้มเหลว

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด เรื่องความล้าหลังของการศึกษาไทยที่ล้าหลังเพื่อนบ้านอาเซียนหลายประเทศ ทั้งก่อนรัฐบาลรัฐประหาร คสช. และในช่วงรัฐบาล คสช. เป็นเวลากว่า 10 ปีไม่มี รัฐบาลใดสนใจปฏิรูปการศึกษา การตั้งรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบด้านการศึกษา ไม่ได้ยึดหลักความรู้ความสามารถ แต่ยึดโควตาพรรค

นอกจากจะมีปัญหาเด็กหลุดเรียนกลางคันแล้ว ยังมีปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำ ระหว่างบุตรหลานของลูกคนจน กับบุตรหลานของลูกหลานเศรษฐีมหาเศรษฐี โอกาสที่ลูกหลานคนจนจะได้เรียนต่อถึงระดับอุดมศึกษา มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ บุตรหลานคนจนถูกสาปให้จมอยู่ในวัฏจักรแห่งความยากจน

เท่านั้นยังไม่พอ การศึกษาไทยยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพ ที่ด้อยกว่าเพื่อนบ้านหลายประเทศ ผลการวิจัยร่วมกัน ระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคด้านการศึกษา กับธนาคารโลก พบเรื่องที่น่าเศร้าสลด นั่นก็คือเยาวชนและผู้ใหญ่ไทย อายุ 15 ถึง 64ปี ขาดทักษะความรู้หนังสือ อ่านออกเขียนได้ รวมทั้งทักษะด้านดิจิทัลและด้านอารมณ์

นักเศรษฐศาสตร์ชาวญี่ปุ่น ผู้ทำการวิจัยระบุว่า เยาวชนและผู้ใหญ่ไทย 64.7% มีทักษะการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่สามารถเข้าใจข้อความสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหาง่ายๆ เช่นฉลากยาได้ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาทักษะชีวิตของประชากรเข้าขั้นวิกฤติ ประชากรส่วนใหญ่ไม่สามารถอ่านหนังสือ ไม่สามารถเปิดกว้าง เพื่อรับความคิดเห็นใหม่

ข้างต้นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลของการวิจัย แต่บางส่วนอาจเป็นความเห็นของผู้วิจัย ที่มองว่าไทยกำลังมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง และลดความเหลื่อมล้ำ คนไทยที่อ่านแล้วรู้ว่า นักเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นมองสังคมไทยอย่างไร แต่รัฐบาลจะต้องยอมรับ แม้ไทยจะขยายการศึกษาอย่างกว้างขวาง แต่ยังมีปัญหาอีกมาก ปัญหาหนึ่งคือตั้งรัฐมนตรีตามโควตาพรรค.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทบรรณาธิการ” เพิ่มเติม

แบ่งปัน.
Exit mobile version