โลกกำลังวิกฤติกับ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ที่สะท้อนให้เห็นได้จากอากาศร้อนยาวนานทั้งกลางวันและกลางคืน “ก่อเกิดปัญหาภัยแล้งรุนแรงในทุกปี” สร้างความเสียหายต่อระบบสิ่งแวดล้อมกระทบกว้างขวางในด้านเศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้

โดยเฉพาะต่อกลุ่มเกษตรกรยากจนมักได้รับผลกระทบลำดับต้นๆ “ในการประกอบอาชีพผลผลิตการเกษตรเสียหาย” ทำให้รายได้ลดลง นำมาสู่การก่อหนี้สิน เป็นปัญหาซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

อันเป็นความท้าทายในการปรับวิถีชีวิตตั้งรับปัญหานี้ในวันที่ 5 มิ.ย.ทุกปีเป็น “วันสิ่งแวดล้อมโลก” กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมโดย ผศ.ดร. เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ม.ธรรมศาสตร์ พูดหัวข้อภาวะวิกฤติภัยแล้ง : ภัยเงียบกระทบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ว่า

ความจริงผลกระทบจาก “ภัยแล้ง” รุนแรงมากกว่าที่ปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอยู่ทุกวันนี้ เพราะภัยแล้งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ “สิ่งแวดล้อม” เมื่อใดก็ตามสิ่งนี้เปลี่ยนมักทำให้ชีวิตมนุษย์เปลี่ยนตามไปด้วยเสมอ

ด้วยหลักการนี้นำมาซึ่ง “การศึกษาผลกระทบของสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นมากมาย” โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งเป็นภัยที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ “ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” อันจะเกิดไตรทศลักษณ์ของผลกระทบจากภัยแล้ง (The Triple Ten) ที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น

ถ้าหากแยกเจาะลึกดูผลกระทบ “ในมิติด้านเศรษฐกิจ” มักก่อเกิดปัญหา จากภัยแล้ง 10 ด้าน กล่าวคือ ด้านหนึ่ง “ผลผลิตทางการเกษตรลดลงส่งผล ให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น” มีตัวอย่างงานวิจัยกรณีความรุนแรงของภัยแล้งที่เพิ่มขึ้น 1% ส่งผลให้ผลผลิตข้าวโพดลดลง 0.8% และถั่วเหลืองลดลง 0.5% ในสหรัฐอเมริกา

ด้านที่สองรายได้เกษตรกรลดลงกระทบต่อเศรษฐกิจท้องถิ่นลดตาม” อย่างภัยแล้งปี 2014 ในแคลิฟอร์เนียต้องสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจ 2.2 พันล้าน ดอลลาร์ ด้านสาม “ผลผลิตปศุสัตว์ขาดแคลนอาหารและน้ำ” ทำให้ผลผลิตลดลง เช่น ในปี 2011 ในแอฟริกาตะวันออกมีอัตราการตายของปศุสัตว์เพิ่มขึ้น 20-30%

ด้านที่สี่กระทบอุตสาหกรรมพึ่งพาน้ำ” กลายเป็นต้นทุนสูง ผลักภาระมาสู่ประชาชนต้องแบกรับ ห้าการท่องเที่ยวลดลง” เพราะแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติแห้งแล้ง หกมีค่าใช้จ่ายการจัดหาน้ำ” สำหรับน้ำอุปโภคบริโภคการเกษตรราคาน้ำชลประทานเพิ่มขึ้น 30% ในช่วงปีที่เกิดภัยแล้ง ส่งผลกระทบต่อค่าใช้จ่ายครัวเรือน

ในส่วน ด้านที่เจ็ดต้นทุนผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น” ส่งผลให้ราคาสินค้า สูงขึ้น แปด “โครงสร้างพื้นฐานเสียหาย” ไม่ว่าจะเป็นถนน สะพาน อาคาร เพราะภัยแล้งก่อเกิดการเสื่อมสภาพเร็ว เก้า “ชะลอตัวการลงทุน” จากความไม่แน่นอนสถานการณ์น้ำ สิบ “เพิ่มหนี้สินครัวเรือน” เพราะรายได้ลดแต่ค่าใช้จ่ายกลับเพิ่มขึ้น

ถัดมาผลกระทบ “ด้านสังคม” ไตรทศลักษณ์ของภัยแล้งแยกออกเป็น 10 เรื่อง คือ “ประชาชนขาดแคลนน้ำ” สำหรับอุปโภคบริโภคมักส่งผลต่อคุณภาพชีวิต อย่างในปี 2000-2013 ในเอธิโอเปียมีเด็กโตช้าที่ควรจะเป็นจำนวนมาก ทำให้ความชุกภาวะเตี้ยในเด็กเพิ่มขึ้น 12% และความชุกของภาวะน้ำหนักน้อยเพิ่มขึ้นด้วย

ผลกระทบต่อมา “ปัญหาสุขภาพ” จากการขาดแคลนน้ำสะอาดก่อเกิด เช่น โรคผิวหนังมาซึ่ง “การอพยพย้ายถิ่นฐานประชาชน” เพื่อหางานทำ และหาแหล่งน้ำใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มย้ายถิ่นก่อนมักมีความพร้อม มีเงินและสุขภาพดี กลายเป็นคนที่เหลือไม่สามารถไปต่อ ไปก่อเกิดความเหลื่อมล้ำจากภัยแล้งให้มีความรุนแรงกว่าเดิม

เช่น กรณีแอฟริกาใต้ในช่วงภัยแล้งมีการย้ายถิ่นในประเทศเพิ่มขึ้น 10% เนื่องจากผู้คนมองหาโอกาสในการดำรงชีพ และการเข้าถึงน้ำที่ดีขึ้น “เกิดความ ขัดแย้งทางสังคม” ในการแย่งชิงทรัพยากรน้ำที่ขาดแคลน ซึ่งในแอฟริกาใต้ สะฮารา ปริมาณน้ำฝนที่ลดลง 1% ในช่วงฤดูฝนเพิ่มโอกาสของความขัดแย้งในชุมชนขึ้น 4.5%

ไม่เท่านั้นยังมีผลกระทบกับ “เด็กและเยาวชนต้องหยุดเรียน” เพื่อช่วย ครอบครัวหารายได้ หรือหาน้ำ ต้องขาดเรียนยาว เด็กเข้าถึงการศึกษาลดลงโดยเฉพาะเด็กหญิงในเอธิโอเปียการเข้าเรียนในระดับประถมลดลง 7% แล้ว “ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วย” มักได้รับผลกระทบรุนแรงจากการขาดแคลนน้ำ ทำให้โอกาสเกิดการเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ภัยแล้งยังก่อเกิด “ปัญหาความยากจน” เพราะเมื่อรายได้ลดลงความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็ทวีความรุนแรงมากขึ้นจน “สูญเสียวิถีชีวิต” โดยเฉพาะวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ผูกพันกับแหล่งน้ำ “เกิดความเครียดและปัญหาสุขภาพจิต” จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์น้ำเพิ่มขึ้น 35%ในประชากรที่ได้รับผลกระทบ

สุดท้ายคือ “การเพิ่มของอาชญากรรม” อันนำมาสู่ปัญหาทางสังคมอื่นๆ ตามมามากมาย

แล้วถ้าเป็นผลกระทบ “สิ่งแวดล้อม” แน่นอนว่าภัยแล้งย่อมมีผลต่อ “ระบบนิเวศ” ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง อย่างช่วงภัยแล้งในรัฐอริโซนา สหรัฐฯ ความหลากหลายสปีชีส์สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในทะเลทรายลดลง 75% ทำให้การทำงานระบบนิเวศเปลี่ยนไป “พืชและสัตว์หลายชนิดล้มตายหรือสูญพันธุ์” เนื่องจากขาดน้ำ

ถัดมายังส่งผลกระทบต่อ “คุณภาพดินเสื่อมโทรม” เพราะขาดความชื้นและ ความเค็ม อย่างกรณีศึกษาการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ พบว่าปริมาณน้ำฝนลดลง 10% ทำให้อัตราการกัดเซาะดินเพิ่มขึ้น 25% เกิดการเสื่อมโทรมของที่ดิน “ก่อเกิด การพังทลายหน้าดิน และการกัดเซาะเพิ่มขึ้น” เนื่องจากขาดพืชปกคลุมดินนั้น

ย้ำด้วย “ปัญหามลพิษอากาศ” จากการเผาไหม้ที่เพิ่มขึ้น เช่น ไฟป่า หมอกควัน อีกทั้งยังส่งผลต่อ “แหล่งน้ำใต้ดินถูกใช้อย่างเกินขีดจำกัด” อันส่งผลให้ระดับน้ำใต้ดินลดลงอย่างรวดเร็ว เช่น ในเขตเซ็นทรัลวัลเลย์ของแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ มีการสูบน้ำใต้ดินมากเกินไปในช่วงภัยแล้ง ทำให้เกิดอัตราการทรุดตัวของดินสูงถึง 25 ซม.ต่อปี

กลายเป็นความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มความเสี่ยงของน้ำท่วม นอกจากนี้แล้วช่วงภัยแล้งจากการลดลงของน้ำในแม่น้ำ และอุณหภูมิสูงขึ้นนี้มักนำไปสู่คุณภาพน้ำลดลง 30-50% เพราะความเข้มข้นสารมลพิษที่เพิ่มขึ้น ความสามารถในการเจือจางลดลง และมีการบุกรุกพื้นที่ป่าแสวงหาแหล่งน้ำในทรัพยากรธรรมชาติอื่น

ท้ายสุดคือ “เพิ่มขึ้นก๊าซเรือนกระจก” จากการเผาไหม้ และการสลายตัว ซากพืชแถมยัง “ก่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ” รูปแบบสภาพอากาศระยะยาว “มีความเสี่ยงเกิดไฟป่าเพิ่มขึ้น” อย่างในภาคตะวันตก สหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศความถี่ไฟป่าจากภัยแล้งเพิ่ม 75% มีพื้นที่ไฟไหม้สูงขึ้น 50% ในปี 1984-2015

หากย้อนดู “ประเทศไทย” ก็มีงานวิจัยผลกระทบจากภัยแล้งเบื้องต้นปรากฏพบว่า “เด็กไทยมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำกว่าเกณฑ์” แล้วการเรียนรู้ช้าความรู้สู้คนอื่นไม่ได้ส่งผลต่อรายได้ประมาณ 5-7% ของคนไทยในปี 2566 มีค่าอยู่ที่ 255,867 บาทต่อคนต่อปี ดังนั้น ภัยแล้งทำให้รายได้ลดลง 12,793-17,910 บาทต่อคน

เช่นนี้ทำให้ในแต่ละปี “เด็ก” สูญเสียเงินไปโดยเปล่า 12,000-17,000 บาท/ปี เพราะการบริหารการจัดการภัยแล้งที่ไม่ดีนี้ ถ้าหากมีเด็กกลุ่มนี้ประมาณ 1 แสนคน เท่ากับว่าเงินอาจจะหายไป 1,700 ล้านบาท “สิ่งนี้จะเกิดขึ้นแน่นอนในอนาคต” ดังนั้น ควรนำข้อมูลที่เกี่ยวกับผลกระทบภัยแล้งมาใช้ในการวางแผนบริหารจัดการปัญหา

แต่ถ้าเป็นในเชิง “มิติทางเศรษฐกิจ” สำหรับผลกระทบของภัยแล้งหากเกิดขึ้นในระดับไม่รุนแรงมากสามารถฟื้นตัวได้เร็วจะทำให้กำลังซื้อลดลง ประมาณ 0.32% คิดเป็นมูลค่า 5,255.2 ล้านบาทต่อเดือน นั่นก็เท่ากับว่ากำลังซื้อของประเทศไทยสูญหายไป 63,062.4 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นจังหวัดละ 1 พันล้านบาทที่หายไปนั้น

แล้วผลกระทบจากภัยแล้งนี้ส่งผลต่อ GDP ของประเทศประมาณ 1% ในปี 2566 GDP ของไทยเท่ากับ 17.9 ล้านล้านบาท “ภัยแล้ง” จะทำให้ GDP หายไป 179,000 ล้านบาท ทั้งส่งผลกระทบต่อการจ้างงานประมาณ 0.75% ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 เท่ากับ 40.25 ล้านคน ดังนั้นภัยแล้งจะทำให้แรงงานได้รับผลกระทบ 301,875 คนด้วยซ้ำ

ทั้งหมดนี้เป็นภาพจาก “ปัญหาภัยแล้ง” ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม แล้วมีตัวเลขยืนยันชัดเจน อันเป็นเสมือนการส่งสัญญาณ ให้ทุกคนควรต้องหันมาใส่ใจกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกันได้แล้ว.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม

แบ่งปัน.
Exit mobile version