นายกรัฐมนตรี สั่งปราบปรามควบคู่ป้องกัน ให้ความรู้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ พร้อมชี้เป้า 10 เรื่อง ที่มักถูกหลอกลวงมากที่สุด ย้ำต้องตรวจสอบข้อมูลก่อนทำธุรกรรม 

วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ กลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชน ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักรู้ ให้ความรู้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ หลังพบว่าปัจจุบันกลุ่มมิจฉาชีพใช้อุบายหลอกชักชวนประชาชนให้ลงทุนหุ้นและการออมเงินในวัยเกษียณ 

ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ตรวจพบข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมออนไลน์รายสัปดาห์ ช่วงวันที่ 21-27 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา พบว่ามีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้นถึง 262 ข้อความ โดยจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในจำนวนดังกล่าวพบข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการหลอกลงทุนหุ้น-ออมเงินวัยเกษียณ โดยใช้วิธีการอ้างถึงหน่วยงานรัฐและธนาคารรัฐ มากที่สุด จำนวน 10 อันดับ ได้แก่

อันดับ 1 เรื่อง ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยส่งหนังสือแจ้งการกรอกข้อมูลเอกสารและบัญชีธนาคารผิด

อันดับ 2 เรื่อง ไอดี catny1992 ชักชวนให้ลงทุน รับรองโดยสำนักงาน ก.ล.ต.

อันดับ 3 เรื่อง AOT เปิดเพจเฟซบุ๊กหุ้นการบินไทยสำหรับมือใหม่ 

อันดับ 4 เรื่อง SET50 SET100 เปิดให้ลงทุนกับกองทุนคุณภาพ ราคาเปิดพอร์ต เริ่มต้น 1,000 บาท

อันดับ 5 เรื่อง สินเชื่อกรุงไทยใจป้ำ ผ่านบัญชี TikTok krungthai_02

อันดับ 6 เรื่อง ลงทุนหุ้นผ่านเว็บไซต์ https://aa/satti-pu.xyz/#/login ของตลาดหลักทรัพย์ 

อันดับ 7 เรื่อง ตลาดหลักทรัพย์เปิดพอร์ตหุ้นออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ https://stockset.net/index/login

อันดับ 8 เรื่อง บัญชีไลน์ HSH-Gold futures ชักชวนให้ลงทุนรับรองโดยสำนักงาน ก.ล.ต.

อันดับ 9 เรื่อง บัญชีตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดให้ซื้อกองทุนผู้สูงอายุ ผลตอบแทน เริ่มต้นที่ 1,000 บาท

อันดับ 10 เรื่อง ออมเงินเพื่อวางแผนวัยเกษียณ ผ่านตัวแทน Liberator Securities

“นายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชน เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานเชิงรุก ปราบปรามคู่ป้องกัน ให้ความรู้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง และต้องบูรณาการประสานความร่วมมือ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงาน พร้อมกันนี้ ขอย้ำเตือนให้ประชาชนหมั่นตรวจสอบข้อมูลก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง ตรวจสอบที่มาของหน่วยงานที่ถูกแอบอ้างที่ช่องทางทางการก่อนเสมอ อย่าหลงเชื่อการชักชวนให้ลงทุน ออมเงินต่างๆ หรือทำธุรกรรมที่มีการเสนอผลตอบแทนที่สูงเกินความเป็นจริง”

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุในช่วงท้ายว่า หากประชาชนโดนหลอกจากกลุ่มมิจฉาชีพออนไลน์ สามารถแจ้งดำเนินการ ระงับ อายัดบัญชี ได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center: AOC) สายด่วน 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ แจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งสามารถตรวจสอบ ติดตาม แจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ที่ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้แก่ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย เพจเฟซบุ๊ก Anti-Fake News Center Thailand รวมถึง X (ทวิตเตอร์) @AFNCThailand และสายด่วน GCC 1111 ตลอด 24 ชั่วโมง

แบ่งปัน.
Exit mobile version