จักรภพ เพ็ญแข อดีตนักการเมืองไทยในยุคสมัยที่ทักษิณ ชินวัตร ยังเป็นนายกรัฐมนตรี ได้กลายเป็นกระแสร้อนแรงขึ้นมาจากการประกาศเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อมอบตัวสู้คดีในข้อหาครอบครองอาวุธสงคราม และอั้งยี่ ในวันนี้ (28 มี.ค. 2567) เรามาทำความรู้จักประวัติของจักรภพ เพ็ญแข ให้มากขึ้น

ประวัติ จักรภพ เพ็ญแข

จักรภพ เพ็ญแข เกิดวันที่ 21 ต.ค. 2510 ปัจจุบันอายุ 56 ปี เป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช และเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล นายทักษิณ ชินวัตร นอกจากนี้ยังเคยมีบทบาทในด้านสื่อสารมวลชนจากการเป็นอดีตผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีทีวี อดีตผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ อดีตนักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศที่มีชื่อเสียง และเป็นผู้เปลี่ยนแปลงการบริหารงานสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย

บทบาททางการเมืองของเขาเริ่มต้นหลังจากคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549 เขาและกลุ่มผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีทีวี รวมถึงองค์กรต่อต้านเผด็จการ เป็นแกนนำจัดเวทีปราศรัยต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่ท้องสนามหลวง ใช้ชื่อว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)

กระทั่งต่อมา ภายหลังพรรคพลังประชาชน ชนะการเลือกตั้งในปี 2550 โดยมีนายสมัคร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ นายจักรภพ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่กำกับดูแลสื่อมวลชนภาครัฐ และในวันที่ 1 เมษายน ปีเดียวกัน นายจักรภพ เป็นประธานในการเปลี่ยนแปลงสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เป็น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดรัฐประหาร ในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งที่ 49/2557 เรียกให้ นายจักรภพ ไปรายงานตัว แต่เจ้าตัวไม่ได้ไปตามคำสั่ง ศาลทหารจึงออกหมายข้อหาฝ่าฝืนการไปรายงานตัว ในวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2558 เป็น 1 หมายจับ และวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558 อีก 1 หมายจับ ข้อหามีอาวุธสงครามไว้ในครอบครอง และในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ศาลอาญาได้ออกหมายจับในข้อหาร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายและเป็นอั้งยี่

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขาต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอาศัยอยู่ต่างประเทศเป็นเวลานานถึง 15 ปี และล่าสุดได้ประกาศในช่องทางเฟซบุ๊กของตนเองว่าจะเดินทางกลับมาประเทศไทยในวันที่ 28 มี.ค. 2567 นี้

แบ่งปัน.
Exit mobile version