คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติวันพุธ เห็นชอบให้เก็บค่าเอฟทีไฟฟ้างวด พ.ค.-ส.ค.67 คงเดิมที่ 39.72 สตางค์ เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเป็น 4.1805 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เท่างวดปัจจุบัน ฟังดูเหมือนใจดีไม่ขึ้นค่าไฟ แต่ในความเป็นจริง คนไทยก็ยังใช้ไฟฟ้าแพงเกินไปอยู่ดี เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากสารพัดเชื้อเพลิงแพงเกินจริง โดยเฉพาะเชื้อเพลิงที่ไม่ต้องจ่ายเงินซื้ออย่าง “แสงแดด” ที่มีอยู่มากมายในประเทศไทย แต่ “ต้นทุนผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด” กลับแพงมาก ข้อมูลจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ช่วง ม.ค.-มิ.ย.66 ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดสูงถึงหน่วยละ 7.67 บาทเลยทีเดียว เป็นไปได้อย่างไร

คุณภาพแดดเมืองไทยก็ร้อนกว่าประเทศอื่น กรมอุตุนิยมวิทยา เพิ่งพยากรณ์ว่า หน้าร้อนนี้ ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ร้อนสุดเฉลี่ย 40-42 องศาเซลเซียส แม้แต่ กรุงเทพมหานคร สัปดาห์นี้ ความร้อนเฉลี่ยจากแดดก็สูงถึง 34-40 องศาเซลเซียส แสดงให้เห็นว่า เมืองไทยเรามีแดดเหลือเฟือที่จะนำมาใช้ผลิตไฟฟ้าในราคาถูกได้

ผมไม่รู้ว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดเฉลี่ยหน่วยละ 7.67 บาท ของ กฟผ. คิดมาจากอะไรบ้าง เพราะต้นทุนหลักมีอยู่อย่างเดียวคือ “แผงโซลาร์” ผมเคยคุยกับนักธุรกิจหลายคนที่ทำโรงไฟฟ้าจากแสงแดด โดยใช้พื้นที่บ่อเก็บนํ้าขนาดใหญ่ภายในโรงงาน และในนิคมอุตสาหกรรมที่เรียกกันว่า “โซลาร์ลอยนํ้า” เหมือนกับที่ กฟผ.ติดตั้งไปแล้วที่ เขื่อนสิรินธร 45 เมกะวัตต์ เขื่อนอุบลรัตน์ 24 เมกะวัตต์ เขาบอกผมว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดบนโซลาร์ลอยนํ้าอยู่ที่หน่วยละไม่ถึง 2 บาท ถูกกว่าค่าไฟที่ซื้อจากพลังงานนํ้าใน สปป.ลาว เสียอีก เมืองไทยมีแดดล้นเหลือตลอดทั้งปี สามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดได้ตลอดทั้งปี ที่สำคัญ “แผงโซลาร์” ปัจจุบันมีราคาถูกลงมาก ประสิทธิภาพก็เหนือกว่าเดิมถึงสองเท่า ถ้าตั้งรับแดดทั้งสองด้านจะผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว

ผมจึงขอเสนอให้ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน นำ “โครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด” ไปเป็น “วาระแห่งชาติที่เร่งด่วน” จะเป็นการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งจะช่วยลดค่าไฟให้ถูกลงได้อย่างน้อย 1-2 บาท จะเป็นประโยชน์เศรษฐกิจของชาติและคนไทยอย่างมหาศาล และจะทำให้ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจทางพลังงานแสงแดดในภูมิภาคนี้เลยทีเดียว

เท่าที่ผมมีข้อมูลอ้างอิงได้ ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 320.7 ล้านไร่ (ข้อมูลจากวันแม็ป) มีพื้นที่นํ้าและพื้นที่ชุ่มนํ้ามากกว่า 30% หรือมากกว่า 96 ล้านไร่ ที่สามารถนำมาติดตั้งโซลาร์ลอยนํ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดได้ ยังไม่นับพื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามันที่มีความยาวกว่า 2,700 กม. ที่สามารถใช้ได้อีก เท่าที่ผมเคยคุยกับผู้รู้เขาบอกว่า แค่ใช้พื้นที่เพียง 4 ล้านไร่ ติดตั้งโซลาร์เซลล์คุณภาพสูง ก็สามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดได้เพียงพอที่จะใช้ในประเทศไทยได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องใช้พลังงานอย่างอื่นเลย ไม่ว่า ก๊าซ ถ่านหิน หรือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่กำลังคิดกัน

เมื่อสองวันก่อน ผู้ว่าฯสระบุรี เพิ่งไปเปิด โครงการโซลาร์ฟาร์มผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด ให้กับ บมจ.ปูนซีเมนต์เอเชีย ที่อำเภอพระพุทธบาท สระบุรี คุณนภดล รมยะรูป กรรมการผู้จัดการ ปูนซีเมนต์เอเชีย เปิดเผยว่า เป็นโรงไฟฟ้าแสงแดดติดตั้งบนพื้นดิน มีกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ ใช้พื้นที่ในโรงงาน 160 ไร่ เมื่อหารออกมาแล้ว ที่ดิน 8 ไร่ ผลิตไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์ ปี 2567 เราใช้ไฟฟ้าพีกไปแล้วที่ 32,000 เมกะวัตต์ คาดว่าหน้าร้อนนี้จะพีกที่ 35,000 เมกะวัตต์ ถ้าใช้โมเดลโซลาร์ฟาร์มสระบุรี 8 ไร่ ผลิตไฟฟ้าได้ 1 เมกะวัตต์ เราใช้ที่ดินแค่ 288,000 ไร่ ติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม ก็สามารถใช้ไฟฟ้าจากแสงแดดในราคาถูกได้ถึง 35,000 เมกะวัตต์ เฉลี่ยต้นทุนออกมาแล้วน่าจะ 1 บาทกว่าต่อหน่วยอย่างที่เล่าไป

ผมก็ฝากไอเดียนี้ไปให้ นายกฯเศรษฐา ไว้ตรงนี้ อยากให้ทำให้สำเร็จ เพราะทำได้ทันที จะเป็นผลงาน Masterpiece ที่เป็นประวัติศาสตร์ของ นายกฯเศรษฐา เลยทีเดียว.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

คลิกอ่านคอลัมน์ “หมายเหตุประเทศไทย” เพิ่มเติม

แบ่งปัน.
Exit mobile version