ติดตามพัฒนาการ 3 ยุคของหุ่นยนต์ทำความสะอาด (Professional Cleaning Robots) จากความนิยมเพิ่มขึ้น ทั้งด้วยปัญหาขาดแคลนแรงงาน สังคมสูงวัย และประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงกว่ามนุษย์

ปัญหาแรงงานขาดแคลนและประชากรโลกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้หุ่นยนต์ทำความสะอาดแบบมืออาชีพ (Professional Cleaning Robots) ได้รับความนิยมยิ่งโดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจาก ResearchAndMarkets.com คาดการณ์ว่า มูลค่าตลาดทั่วโลกของธุรกิจนี้ มีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% และมูลค่าอาจแตะ 20,970 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 770,000 ล้านบาท) ในปี 2573 โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมประเทศไทย ครองส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 30%

ความนิยมในหุ่นยนต์ยังเกี่ยวเนื่องกับประสิทธิภาพการทำงานที่มากกว่า ปกติพนักงาน 1 คนอาจจะทำความสะอาดครอบคลุมพื้นที่ได้มากที่สุด 1,500-2,000 ตร.ม.ต่อวัน เทียบกับการเดินประมาณ 10 กิโลเมตร แต่หุ่นยนต์เข้าทำความสะอาดในขนาดพื้นที่เท่ากันโดยใช้เวลาราว 1-2 ชั่วโมง และเทคโนโลยียังพัฒนาไปถึงจุดที่สามารถรีไซเคิลน้ำเสียมาใช้ในการทำความสะอาดได้อีกหลายครั้ง ช่วยลดการสิ้นเปลืองน้ำและดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

Metthier ผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อัจฉริยะแบบครบวงจร (Smart Facility Management) เผยข้อมูลพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจหุ่นยนต์ทำความสะอาด ที่กำลังเข้าสู่เจเนอเรชัน 3 (Gen3) ทำงานผ่าน Internet of Things (IoT) หรือทำงานได้เองโดยไม่ต้องมีคนควบคุม อันนับเป็นก้าวสำคัญของธุรกิจ Robot as a Service (การเช่าใช้หุ่นยนต์บริการ)

พัฒนาการของหุ่นยนต์ทำความสะอาดแบ่งได้เป็น 3 ยุค ยุคแรกคือยุคที่หุ่นยนต์ทำตามคำสั่งที่ป้อนโดยมนุษย์ หุ่นยนต์ทำความสะอาดถูกเปิดตัวครั้งแรกของโลกในปี 2539 โดย Electrolux เป็นหุ่นยนต์ทำความสะอาดที่ใช้รีโมตคอนโทรลในการสั่งงาน ประสิทธิภาพทำความสะอาดยังไม่ค่อยดีนักและราคาค่อนข้างสูง หุ่นยนต์ทำความสะอาดในยุคนี้จึงไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ยุคที่สอง (ยุคปัจจุบัน) คือยุคที่หุ่นยนต์ฉลาดขึ้น ทำงานได้ด้วยตัวเอง มีฟีเจอร์ตรวจจับวัตถุและคน หุ่นยนต์ในยุคที่สองนี้ ถูกพัฒนาโดยมีการนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI เข้ามาร่วมด้วย แต่ยังมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น ยังไม่สามารถประเมินประเภทพื้นผิวในการเลือกการทำความสะอาดที่เหมาะสมได้เอง หุ่นยนต์ยุคนี้จึงยังต้องทำงานร่วมกับคนอยู่

ยุคที่สาม เป็นยุคที่เชื่อว่ากำลังจะมาถึง เป็นยุคที่หุ่นยนต์ถูกพัฒนาเข้ากับเทคโนโลยี IoT รวมถึง AI มีการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) สามารถสร้าง 3D Mapping ทำให้หุ่นยนต์สามารถคิดและตัดสินใจประมวลผลในการทำงานเองได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด เช่น เมื่อหุ่นยนต์เห็นเศษขยะหรือน้ำหก หุ่นยนต์สามารถทำความสะอาดได้เองทันที หรือปรับโหมดการทำความสะอาดให้เข้ากับแต่ละพื้นผิวได้เอง

อย่างไรก็ตาม การที่หุ่นยนต์ถูกพัฒนาเข้ากับเทคโนโลยี IoT รวมถึง AI ตลอดจนมีการเรียนรู้เชิงลึก (Deep Learning) สามารถสร้าง 3D Mapping ได้นั้น จำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมด้านกฎหมายเพื่อรองรับระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ (Fully-automated) ซึ่งในประเด็นด้านกฎหมายดังกล่าวนี้ ยังเป็นที่ถกเถียงกันทั่วโลก

ยกตัวอย่าง การพิจารณาออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไร้คนขับ (Autonomous Car) เป็นต้น

โดยการพัฒนาเทคโนโลยี IoT ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ธุรกิจยานยนต์เท่านั้น ปัจจุบันมีบริษัทในจีน ที่นำเทคโนโลยีของรถยนต์ไร้คนขับ มาใช้กับหุ่นยนต์ทำความสะอาดและได้รับอนุญาตจากรัฐบาล ให้หุ่นยนต์ทำความสะอาดวิ่งบนถนนและพื้นที่สาธารณะได้ ดังนั้นหากรัฐบาลไทยสามารถวางแผนปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต น่าจะเอื้อต่อการพัฒนาหุ่นยนต์เชิงพาณิชย์ขึ้นในประเทศไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาวได้.

คลิกอ่านคอลัมน์ “บทความไซเบอร์เน็ต” เพิ่มเติม

แบ่งปัน.
Exit mobile version